โรคลำต้นเน่า
ในปาล์มน้ำมัน…เกิดจาก การเข้าทำลายของเชื้อรา กาโนเดอร์มา (Ganoderma boninense) เชื้อราชนิดนี้กระจายอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเริ่มแพร่กระจายมายังประเทศไทย โดยการระบาดของเชื้อกาโนเดอร์มา ถือว่ามีความรุนแรง เพราะต้นพืชที่ติดเชื้อแล้วจะตาย และไม่มีทางรักษา โดยพืชที่เป็นแหล่งอาศัย ได้แก่ พืชสกุลถ่อน หมากสง สนทะเล พืชสกุลค้อ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน และพืชสกุลปาล์ม เป็นต้น

อาการของโรค
ในปาล์มน้ำมันที่มีอาการมากแล้ว อาการของต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรค ใบด้านล่างจะเหลือง ใบยอดมีจุดสีเหลือง ใบไม่คลี่ ยอดอ่อนพับตัวลงและเริ่มเน่า ต่อมาต้นจะโตช้า รากบริเวณโคนต้น จะเริ่มแห้งและเน่า และสุดท้ายมีดอกเห็ดกาโนเดอร์มา (ลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือ) งอกออกมาจากโคนต้น โดยหลังจากแสดงอาการแล้ว ปาล์มเล็กจะตายภายใน 6-12 เดือน และ ปาล์มใหญ่จะยืนต้นตายภายใน 2 – 3 ปี โดยหากมีการติดเชื้อกระจายไปมากกว่า 20% ของพื้นที่ ถือว่าไม่มีความคุ้มค่าต่อการทำสวนปาล์มน้ำมัน

 



ข้อสันนิษฐานการเกิดโรค
ดินกรด หรือ ดินเปรี้ยว หมายถึง ดินที่มีระดับ pH ต่ำกว่า 7
• การปลูกทดแทนพืช ในพื้นที่เดิม โดยไม่กำจัดตอเก่าออกให้หมด เช่น ล้มยางปลูกปาล์มน้ำมัน ล้มมะพร้าวปลูกปาล์มน้ำมัน ล้มปาล์มน้ำมันปลูกไม้ผล เป็นต้น
• ต้นพืชอ่อนแอ ได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ
• สภาพของดินไม่เหมาะสม เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
• อินทรียวัตถุในดินมีน้อย ทำให้ดูดซับธาตุอาหารไว้ได้น้อย ระบบรากจึงเติบโตได้ไม่ดี

เมื่อพบการระบาด
การเผาทำลายต้นปาล์มที่เป็นโรคให้หมด
1. เผาทำลายต้นปาล์มที่เป็นโรคให้หมด และอย่าเคลื่อนย้ายต้นปาล์มที่เป็นโรค
2. ฆ่าเชื้อบนผิวดินบริเวณต้นที่เป็นโรค ด้วยปูนขาว หรือโดโลไมท์
3. เพิ่มอินทรียวัตถุในสวน เช่น การใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การวางกองทาง หรือการปลูกพืชคลุมดิน
4. ฉีดหรือรด เชื้อราไตรโคเดอร์มารอบโคนต้นปาล์มน้ำมัน
5. ปรับสภาพดิน ให้มีค่าพีเอช (กรด-ด่าง) ที่เหมาะสม ซึ่งควรอยู่ในช่วง 5.0 ถึง 5.5

วิธีป้องกัน "โรคลำต้นเน่า" ในปาล์มน้ำมัน
ก่อนปลูกปาล์มน้ำมัน
การเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกปาล์มน้ำมัน
1. กำจัดตอเก่าของต้นปาล์มเดิมทิ้ง โดยการขุดหลุมขนาด 1.5 x 1.5 เมตร ความลึก 60 เซนติเมตร ไถพรวน แล้วคราดเอาเศษรากปาล์มเก่าออกให้หมด
2. สับต้นปาล์มเก่าให้เป็นชิ้นย่อยๆ วางไว้เป็นแถว ห่างจากต้นที่จะปลูกใหม่อย่างน้อย 2 เมตร
3. ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อเร่งการย่อยสลายของเศษซากต้นปาล์มเก่า และช่วยในการหมุนเวียนธาตุอาหารพืช

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ในการควบคุมโรคลำต้นเน่า
เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ถือเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ประสิทธิภาพสูง สามารถเข้าไปทำลายเชื้อราด้วยกันได้ดีกว่าการใช้สารเคมี การขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาเกษตรกรสามารถทำได้เอง โดยมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
1. หัวเชื้อไตรโคเดอร์มาชนิดผง
2. อุปกรณ์เตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ ได้แก่ ข้าวสารหรือข้าวหัก, หม้อหุงข้าว, ถุงพลาสติก ขนาด 8 x 12 นิ้ว, หนังยาง, เข็มหมุดและถ้วยตวง



วิธีการขยายเชื้อไตรโคเดอร์มาชนิดสด
1. ตักข้าวสุก 250 กรัม (โดยประมาณ 2 ทัพพี ) ใส่ในถุงพลาสติกขณะกำลังร้อน
2. รีดอากาศออกจากถุงและพับปากถุง วางไว้ ประมาณ 30 นาที ให้ข้าวอุ่น
3. เหยาะหัวเชื้อราแบบผงใส่ลงบนข้าวเล็กน้อย รัดปากถุงด้วยหนังยาง เขย่าให้เข้ากัน
4. ใช้เข็มแทงรอบๆ บริเวณปากถุง 20-25 ครั้ง
5. กระจายข้าวให้ทั่วถุงแล้วนำไปวางในห้องที่มีแสงสว่าง หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง
6. เมื่อครบ 2 วัน ให้ขยำข้าวเบาๆ และกระจายข้าวให้ทั่วถุงเช่นเดิม
7. บ่มต่ออีก 4-5 วัน จะเห็นเชื้อรามีสปอร์สีเขียว สามารถใช้ได้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 เดือน

วิธีการนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา ชนิดสดไปใช้
1. ใช้ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก) อัตราส่วน 1 : 4 : 100 (เชื้อสด : รำละเอียด : ปุ๋ยหมัก)
2. ใช้คลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก
3. ผสมเชื้อกับน้ำอัตราส่วน 1 : 20 แล้วนำไปฉีดพ่นหรือรดต้นพืช
4. สามารถใช้ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพได้



อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/