โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูนกแสก
บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จัดทำโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากนกแสกเพื่อกำจัดหนูในสวนปาล์มน้ำมัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสียหาย ของผลผลิตทะลายปาล์มสด จากการทำลายของหนู ด้วยการควบคุมจำนวนประชากรหนูโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าว สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และงบประมาณการซื้อสารเคมีได้ปีละนับล้านบาท และจะนำไปสู่โครงการต้นแบบให้เกษตรกรหันมาใส่ใจและห่วงใยต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น


วงจรชีวิตนกแสก
นกแสกเพศผู้และเพศเมีย  มีลักษณะคล้ายกันมากจนไม่สามารถจำแนกเพศได้  จากลักษณะภายนอก  นกแสกมีอายุยืนยาวในธรรมชาติประมาณ 5-7 ปี สามารถผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุครบ 1 ปี วางไข่ปีละ 1-2 ครั้ง  ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์นกแสกจะไม่อาศัยอยู่ในโพรงรัง  จะเกาะหลบพักนอนในเวลากลางวันตามต้นไม้หรือต้นปาล์มที่มีใบแน่นทึบ  สามารถใช้กำบังตัวจากนกชนิดอื่นที่มักจะรุมทำร้ายมันในเวลากลางวัน  ฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ประมาณเดือนกันยายน–กุมภาพันธ์  นกแสกจะจับคู่แล้วหาโพรงตามธรรมชาติ หรือรังที่สร้างให้สำหรับเป็นที่ผสมพันธุ์และวางไข่ นกแสกไม่สามารถสร้างโพรงได้เองและไม่ใช้วัสดุรองรัง เวลาวางไข่นกเพศเมีย ทำหน้าที่ฟักไข่เพียงตัวเดียว นกเพศผู้จะนอนอยู่นอกรัง ในขณะที่ตัวเมียกกไข่จะทำหน้าที่หาล่าเหยื่อมาเลี้ยงนกตัวเมียและลูกในรัง จนกระทั่งลูกนกโต แม่นกจึงออกไปช่วยหาอาหาร มาเลี้ยงลูก และเกาะนอนอยู่นอกรัง จำนวนไข่โดยเฉลี่ย 5 ฟองต่อรัง จำนวนลูกประมาณ 3-4 ตัวต่อครอก ระยะเวลาการวางไข่และฟักไข่ประมาณ 30 วัน ลูกฟักออกจากไข่ไม่พร้อมกัน  จะพบลูกนกขนาดแตกต่างกันในรังเดียวกัน แต่ลูกนกเติบโตเร็วมาก  อายุประมาณ 60-70 วัน ลูกนกจึงออกจากรัง ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์พ่อ-แม่ นกจะวางไข่รอบที่ 2 ต่อไปเลย

ความสามารถในการจับหนู
ในสวนปาล์มน้ำมัน  นกแสกกินหนูเป็นอาหาร 100 เปอร์เซ็นต์  นกแสก 1 ตัว สามารถกินหนูท้องขาวที่เรียกว่า หนูป่ามาเลย์ ที่เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของปาล์มน้ำมัน  ที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยเฉลี่ย วันละ 2 ตัว หรือประมาณ 700 ตัว/ปี  ลองคำนวณคร่าว ๆได้ว่า  ถ้ามีนกแสก 10 ตัว จะช่วยกำจัดหนูได้ถึง 7,000 ตัว/ปี  หนูจำนวนนี้ถ้าปล่อยไว้ จะทำความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรได้มากเพียงใด  และถ้าต้องใช้สารเคมีกำจัดหนู จะต้องใช้เงินซื้อและจ้างแรงงานกี่บาท รวมทั้งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งคำนวณเป็นเงินได้ยาก

จะทำอย่างไร จึงจะได้นกแสกมาช่วยปราบหนู???
เกษตรกรสามารถชักนำให้นกแสกเข้ามาอาศัยในสวนปาล์ม โดยการสร้างรังหรือบ้านนกให้นกแสกในสวนปาล์ม ลักษณะรังสำหรับนกแสก สามารถทำจากวัสดุที่หลากหลาย และมีหลายรูปแบบ เช่น รังกล่องไม้กระดานหรือ ไม้อัดแบบบ้าน ขนาดกว้าง 60 ซ.ม. ยาว 80 ซ.ม. สูง 60 ซ.ม. มีหลังคาคลุม หรือ รังถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ภายในถังปูพื้นไม้กระดาน หรือแผ่นกระเบื้อง ติดตั้งบนเสาเหล็ก หรือเสาคอนกรีต ให้รังอยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 2.5 เมตร ติดตั้งรังไว้ในบริเวณที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงดังรบกวน จำนวน 1-2 รัง ต่อพื้นที่ 50 ไร่ นกแสกในธรรมชาติ ที่ยังพอมีเหลืออยู่อาจจะเข้ามาอาศัยรังวางไข่แต่จะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่นกป่าจะเข้ามาใช้รัง วิธีที่ได้ผลเร็วที่สุด คือ การนำลูกนกแสกที่เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์ นกแสกไว้กำจัดหนูในสวนปาล์มมาปล่อย นกแสกจะคุ้นเคยและเข้าใช้รังได้เร็วจับคู่ผสมพันธุ์ขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนสามารถควบคุมจำนวนหนู ไม่ให้มีมากจนก่อความเสียหาย ต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรได้

ต้องสร้างรังกี่รังและมีนกแสกกี่ตัวถึงจะเพีบงพอ???
นกแสกไม่หวงพื้นที่หากินระหว่างนกแสกด้วยกัน จึงสามารถสร้างรังให้นกแสกในสวนปาล์มได้มาก โดยไม่จำกัดแต่ควรกระจายรังห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 เมตร จำนวนนกแสกที่จะมีได้ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความชุกชุมของหนูในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่าง ในสวนที่มีหนู 1 ตัว ทุกๆต้นปาล์ม นกแสก 1 คู่ และลูก 2 ครอก เฉลี่ยครอกละ 3 ตัว จะใช้พื้นที่หาอาหารช่วงฤดูผสมพันธุ์ประมาณ 6 เดือน ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งอาจใช้อัตราส่วนนี้ในการกำหนดจำนวนรังนกแสกในสวนปาล์มได้

ข้อดีของการใช้นกแสกกำจัดหนู
ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดหนู การกำจัดหนูปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนกแสกทำให้เกษตรกรสามารถลดภาระงานในการป้องกันกำจัดหนูได้ เมื่อจำนวนนกแสกเพิ่มมากจนสมดุลกับประชากรหนูจะสามารถลดความเสียหายที่ปรากฏให้เห็นบนทะลายปาล์มสดในระดับที่รุนแรง ซึ่งโรงงานรับซื้อใช้เป็นตัวกำหนดราคา ซึ่งช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายผลผลิตได้ราคาสูง ลดต้นทุนการผลิตได้มาก

ข้อจำกัด
เกษตรกรต้องเลิกใช้สารเคมีกำจัดหนู ใช้วิธีการที่ไม่เป็นอันตรายต่อนกแสก กำจัดหนูร่วมด้วยในระยะแรกๆที่จำนวนนกยังไม่มาก จนกระทั่งมีนกแสกมากพอจึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนกแสกคอยกำจัดและควบคุมประชากรหนูต่อไปอย่างยั่งย

ข้อเสนอแนะ
เกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่สวนปาล์มแต่ละรายไม่มากควรร่วมกับสวนที่อยู่ข้างเคียงหลาย ๆรายจะทำให้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับนกแสกมากขึ้น