การตัดแต่งทางใบ คือการตัดทางใบปาล์มน้ำมันออกจากต้นปาล์ม เพื่อรักษาทรงพุ่มและทางใบปาล์มให้อยู่ในทรงที่เหมาะสม รวมถึงการตัดทางใบปาล์มที่ตาย ทางใบที่เกิน ทางใบที่เป็นโรคออกไป เพื่อให้ทางใบปาล์มอื่นๆ ได้รับแสง และสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่

ต้นปาล์มอายุเท่าไรจึงจะตัดแต่งทางใบได้
  • ต้นปาล์มน้ำมัน อายุ 0–5 ปี ไม่ควรตัดแต่งทางใบ หากจำเป็นหรือเมื่อต้องการเก็บผลผลิตให้ตัดทางใบทิ้งน้อยที่สุด คือ ควรไว้ทางใบ 7–8 รอบ (56–64 ทางใบต่อต้น)
  • ต้นปาล์มน้ำมัน อายุ 7–8 ปี ควรไว้ทางใบ 5–6 รอบ (40–48 ทางใบ/ต้นปาล์ม) เพราะเป็นช่วงที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุด และไม่ควรตัดแต่งทางใบจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะแต่ละทางใบจะรองรับหนึ่งทะลาย สารอาหารที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของแต่ละทางใบจะถูกส่งไปเลี้ยงทะลายที่อยู่ติดกับทางใบนั้นก่อนการตัดแต่งทางใบออกมากเกินไปทำให้ต้นปาล์มเรียวเล็ก ออกดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย
  • ต้นปาล์มน้ำมัน อายุมากกว่า 8 ปี ควรแต่งทางใบทั้งปี โดยตัดทิ้งใบล่างๆที่ไม่ได้รับแสง (ทางใบที่ 40 เป็นต้นไป) ซึ่งทางใบล่างๆเหล่านี้จะเกิดการหายใจและใช้พลังงานมากกว่าที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ โดยให้เหลือไว้เพียงแต่ใบที่ได้แดดเพียงพอที่จะสังเคราะห์แสงได้

เทคนิคตัดแต่งทางใบที่ถูกวิธี
  • ปาล์มน้ำมันที่ไม่ให้ผลผลิต ควรตัดโคนออกไป
  • ควรเก็บทางปาล์มใต้ทะลายไว้อย่างน้อย 1–3 ทางใบเสมอ เพื่อเป็นทางรองรับทะลายและเป็นทางไว้หล่อเลี้ยงน้ำและอาหาร ช่วยให้ต้นปาล์มคอใหญ่ต้นอ้วนสมบูรณ์ขึ้น ถ้าไม่มีทางปาล์มใต้ทะลายรองรับไว้ผลเสียคือทะลายด้านล่างก็ดึงแหล่งอาหารจากทางด้านบนทำให้ทะลายด้านบนก็มีผลกระทบด้วยเช่นกัน
  • ทางใบที่เป็นโรค ทางใบที่ตาย ทางใบที่ถูกศัตรูพืชทำลาย ควรถูกตัดออกไป
  • แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรเลือกตัดแต่งทางใบในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเป็นการใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ


ตารางแสดงจำนวนทางใบ




ทางใบที่ตัดแล้วมีประโยชน์ อย่าทิ้ง!!

ทางใบปาล์มที่ตัดแล้ว มีประโยชน์มากมาย สามารถกลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนได้ถึง 40% โดยทั่วไปมีแนววิธีจัดการทางใบที่ตัดแล้ว ดังนี้
1. กองทางใบระหว่างแถวทุกแถวหรือกองทางใบระหว่างแถวแบบแถวเว้นแถว ในแต่ละแถวเว้นช่องทางเดินไว้เป็นระยะสำหรับการทำงาน โดยการนำทางใบมากองให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร  เมื่อเกิดการย่อยสลายซากทางใบเหล่านี้ จะช่วยรักษาความชื้นในดิน คุลมหน้าดิน ลดการระเหยของน้ำในดินบริเวณนั้น ส่งผลให้รากปาล์มมีชีวิตได้นานขึ้นและยังช่วยปรับโครงสร้างดินยึด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการคลุมรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างไปกับฝน ช่วยชะลอการชะล้างปะจุปุ๋ยออกนอกเขตรากปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย
2. กองสุมกลางร่องปาล์ม เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด โดยการนำทางใบมากองสุมไว้ตรงกลางระหว่างแถวต้นปาล์มแล้วปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุ กองทางใบเหล่านี้จะปลดปล่อยธาตุอาหารต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในทางใบคืนสู่ดิน  ช่วยคลุมหน้าดิน ลดการระเหยของน้ำ
3. ปูทางใบให้เต็มพื้นที่สวนปาล์ม วิธีนี้เพียงแค่เปลี่ยนจากกองสุมมาเป็นการปูทางใบให้เต็มพื้นสวน วิธีนี้ทางใบจะย่อยสลายได้เร็วกว่ากองสุมและยังช่วยรักษาความชื้นและการชะล้างหน้าดินได้ในวงกว้าง ลดการเกิดหญ้าในสวน เวลาหว่านปุ๋ยจะหว่างกลางแถวเหมือนเดิม หรือหว่านรอบต้นก็ได้
*ข้อแนะนำ : ทางใบที่เป็นโรคระบาด หรือถูกศัตรูพืชกัดกินรุนแรง ควรแยกออกไปเผาทำลาย โดยไม่นำมากองรวม ในกองทางใบ

ประโยชน์ของการสร้างกองทางใบ
1. รักษาความชื้นในดิน ลดการระเหยของน้ำในดินบริเวณนั้นได้ ทำให้ความชื้นในดินอยู่ได้นานส่งผลให้รากปาล์มมีชีวิตได้นานขึ้น
2. เพิ่มอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสในดินมากขึ้น โดยทางใบคืออินทรีย์วัตถุที่ถูกและหาง่ายที่สุด เมื่อเกิดการย่อยสลายจะช่วยปรับโครงสร้างดินยึด ชะลอการชะล้างประจุปุ๋ยออกนอกเขตรากปาล์มน้ำมัน
3. รักษากิจกรรมและความมีชีวิตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน
4. คืนธาตุอาหารให้กับดิน โดยปาล์มน้ำมันที่โตเต็มที่จะมีทางใบที่ถูกตัดทิ้งคิดเป็นน้ำหนักแห้งมากกว่า 1.6 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งสามารถคำนวนเทียบเท่ากับ
    ปุ๋ย 46-0-0       = 9.28 กก./ไร่
     ร็อคฟอสเฟต      = 4.8 กก./ไร่
    ปุ๋ยสูตร 0-0-60   = 19.2 กก./ไร่
    กลีเซอไรด์          = 11.2 กก./ไร่
5. ช่วยลดและชะลอการชะล้างหน้าดินในแปลงปลูก
6. ปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสมสำหรับการละลายของธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันสามารถนำไปใช้ได้สูงสุด
7. ลดพื้นที่การจัดการสวนลงเหลือแค่ 25 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ประหยัดค่าแรงงาน เวลา และปูนโดโลไมด์

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.cpiagrotech.com/