วิธีดูแลสวนปาล์มน้ำมัน

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการทำสวนปาล์มน้ำมันให้ได้ผลผลิตสูง และมีต้นทุนต่ำ ต้องอาศัยเทคนิคการดูแลหลากหลายปัจจัย… วันนี้ ซีพีไอ ได้รวมรวม 10 เทคนิค วิธีดูแลสวนปาล์มน้ำมัน แบบเข้าใจง่ายมาฝากเกษตรกรทุกท่าน..เรามาดูกันเลยดีกว่า

1. ให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอ
ในสภาพพื้นที่ประเทศไทยที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,800 มิลลิเมตร/ปี และมีฤดูแล้งยาวนาน 3-5 เดือน ควรมีการให้น้ำเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตทะลายให้สูงขึ้นโดยการติดตั้งระบบน้ำเพิ่มเติมสำหรับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำจำกัด 
การให้น้ำแก่ปาล์มน้ำมัน ในวิธีคิดแบบเดิมๆ คือ ให้น้ำตามปริมาณความต้องการน้ำของพืชแต่ละชนิด ที่คำตอบจะออกมาในรูปของจำนวนลิตร/ต้น/วัน 
โดยขาดการคำนึงถึงสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดอัตราการคายน้ำของพืช ดังนั้นการให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอและพอดีคือ การให้น้ำตามค่าพลังงานของน้ำในดิน โดยควรรักษาระดับให้อยู่ในช่วงที่รากพืชดูดไปใช้ได้ง่ายที่สุด โดยอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าพลังงานของน้ำในดินเรียกว่า เทนซิโอมิเตอร์ (Tensiometer) ฝังเครื่องที่ความลึก 1/4 ของชั้นรากพืช เพื่อบอกเวลาเริ่มให้น้ำ และฝังที่ความลึก 3/4 ของชั้นรากพืชเพื่อบอกเวลาหยุดให้น้ำ เท่านี้เราก็จะสามารถคำนวนปริมาณน้ำที่ปาล์มน้ำมันในสวนของเราควรได้รับอย่างเหมาะสม
 
2. แสงแดด ที่เพียงพอ
ปาล์มน้ำมันนั้นต้องการแสงแดดมากกว่า 5 ชม./วัน หากปาล์มน้ำมันได้รับแสงน้อย จะทำให้มีผลผลิตปาล์มน้อยลง ปัญหาเรื่องของแสงนั้นจะมีปัญหาโดยเฉพาะกับปาล์มน้ำมันที่มีอายุปลูกไปแล้วมากกว่า 10 ปี เนื่องจากปาล์มที่ปลูกชิดกันนั้นจะมีการบังแสงของทางใบระหว่างต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น จัดว่าเป็นประเทศที่มีแสงแดดเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน
 
3. รู้ค่ากรด-ด่าง ของดิน
ความเป็นกรด-ด่าง เป็นตัวควบคุมการละลายธาตุอาหารในดินให้ออกมาอยู่ในรูปสารละลายรวมกับน้ำในดิน ถ้าดินมีความเป็นกรด-ด่างไม่เหมาะสม ธาตุอาหารในดินอาจละลายออกมาได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือในทางตรงกันข้ามธาตุอาหารบางชนิดอาจละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อปาล์มน้ำมันได้ หากดินกรดหรือดินเปรี้ยว คือ ดินที่มีระดับ pH ต่ำกว่า 7 ให้แก้ไขโดยการใช้ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอย ขี้เถ้า เพื่อลดความเป็นกรดในดิน ดังนั้นเกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจค่ากรด-ด่างของดินในสวนปาล์มของท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขถูกต้องและทันท่วงที
 
4. การใส่ปุ๋ย
ปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตในรูป "น้ำมัน" ซึ่งมีต้นทุนในการสังเคราะห์แสงสูงกว่าแป้งและโปรตีน ปาล์มน้ำมันจึงต้องการธาตุอาหารพืชในปริมาณมาก วิธีการใส่ปุ๋ยที่ได้ผลมาโดยตลอด คือการใส่ปุ๋ยให้เพียงพอต่อการสร้างต้นและเพื่อการสร้างทะลาย ร่วมกับการใส่ปุ๋ยบนกองทางใบ โดยพอสรุปอัตราปุ๋ยตามผลผลิตได้ตามตารางในด้านล่าง

5. ตัดแต่งทางใบ
การตัดแต่งทางใบ คือการตัดทางใบปาล์มที่ตาย ทางใบที่เกิน ทางใบที่เป็นโรคออกไป เพื่อให้ทางใบปาล์มอื่นๆ ได้รับแสง และสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่

6. วางกองทางใบ
โดยการนำทางใบปาล์มน้ำมันมากองให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีประโยชน์มากมาย อาทิ ช่วยรักษาความชื้นในดินให้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำในดินบริเวณนั้น ชะลอการชะล้างหน้าดิน ทำให้ความชื้นในดินอยู่ได้นานส่งผลให้รากปาล์มมีชีวิตได้นานขึ้น คืนธาตุอาหาร เพิ่มอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสในดินมากขึ้น รักษากิจกรรมและความมีชีวิตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน และประโยชน์อื่น ๆอีกมากมาย

7. หักช่อดอกปาล์มน้ำมัน
ข้อดีของการตัด/หัก/แทงช่อดอกปาล์มน้ำมันทิ้ง คือ สารอาหารต่างๆ สามารถไปเลี้ยงและสร้างลำต้นปาล์มได้อย่างเต็มที่ (แทนที่จะสูญเสียไปกับการเลี้ยงดอกปาล์มน้ำมัน) จึงทำให้ต้นปาล์มโตเร็ว สมบูรณ์แข็งแรง โคนต้นและทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ ทะลายสมบูรณ์กว่าต้นที่ไม่ได้หักช่อดอกทิ้ง

8. กำจัดศัตรูปาล์มน้ำมันอย่างถูกวิธี
สัตว์และแมลงศัตรูปาล์มน้ำมันนั้นมีมากมาย เช่น หนู หนอนหน้าแมว หนอนร่านสี่เขา หนอนปลอกเล็ก ด้วงแรด ฯลฯ ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นเฝ้าระวัง และศึกษาหาวิธีกำจัดอย่างถูกต้อง เหมาะกับชนิดของศัตรูปาล์มนั้นๆ

9. เฝ้าระวัง/สังเกต/กำจัด โรคปาล์มต่างๆ
โรคปาล์มน้ำมัน สามารถเกิดขึ้นได้กับต้นปาล์มน้ำมันในทุกระยะ เช่น ระยะเมล็ด ระยะต้นกล้า ระยะปลูกลงแปลง ระยะที่ให้ผลผลิต ซึ่งโรคต่าง ๆนั้นมีระดับความรุนแรงในการสร้างความเสียหายให้กับปาล์มน้ำมันแตกต่างกันไป เช่น โรคใบไหม้ โรคใบจุด โรครากเน่า โรคทะลายปาล์มเน่า ฯลฯ เกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจลักษณะอาการของโรคเพื่อวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง

10. เก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมัน อย่างถูกวิธี
การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มสด ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เกษตรกรจึงควรเก็บเกี่ยวผลผลิตทะลายปาล์มสดที่สุกพอดีส่งเข้าโรงงาน เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มทั้งปริมาณและคุณภาพสูงสุด และจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปปฏิบัติ และใช้อุปกรณ์เก็บเกี่ยวที่เหมาะสมกับอายุต้นปาล์มน้ำมันนั้นๆ

อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/