การต่อต้านคอร์รัปชั่น

นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น 
          บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย บริหารจัดการโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการติดต่อกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งบริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด และในปี 2557 บริษัทฯ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนต่อสาธารณะโดยการเข้าเป็นหนึ่งใน "แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต"
 
คำนิยามตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น
          คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญามอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม แก่เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ทางธุรกิจหรือแนะนำธุรกิจให้แก่บริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้

 

นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น
          ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย
 
หน้าที่ความรับผิดชอบ
  1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

  2. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

  3. ผู้บริหาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย

  4. ผู้จัดการสำนักตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

 
แนวทางการปฏิบัติ
  1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานบริษัทฯ ทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณบริษัทฯ โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

  2. พนักงานบริษัทฯ ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัทฯ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัท กำหนดไว้

  3. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่นหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุกจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ใน Whistle blower Policy

  4. ผู้ที่กระทำคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณบริษัทฯ ซึ่่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

  5. บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทฯ ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้

  6. บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ผิดและยอมรับไม่ได้ ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและ/หรือภาคเอกชน

 
ข้อกำหนดในการดำเนินการ
  1. นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงาน และการให้ผลตอบแทนและการลงโทษพนักงาน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  2. การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในคู่มือจรรยาบรรณบริษัท นโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ รวมทั้ง ระเบียบ และคู่มือปฏิบัติงานของบริษัทฯที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทฯจะกำหนดขึ้นต่อไป

  3. เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอร์รัปชั่น กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทฯ ทุกระดับต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้

  • ของกำนัล การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายในการให้ มอบ หรือรับ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในจรรยาบรรณบริษัทฯ และนโยบายว่าด้วยการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดของบริษัทฯ
  • เงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุน การให้หรือรับเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
  • ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ ห้ามให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิด การดำเนินงานของบริษัทฯ และการติดต่องานกับภาครัฐ      จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนความเป็นมาในการดำเนินการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

ในปี 2557 บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต โดยประธานกรรมการบริษัทฯ ได้ร่วมให้สัตยาบันเพื่อรับทราบข้อตกลงคำประกาศเจตนารณ์แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาอนุมัตินโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น นโยบายการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่แจ้งข้อมูลหรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และจรรยาบรรณบริษัท (Whistle Blower Policy) และนโยบายว่าด้วยการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อประกาศและแจ้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองคร์กรได้รับทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน

ในปี 2558 ได้ดำเนินการแจ้งพนักงานในองค์กร หน่วยงานภายนอก คู่ค้าของบริษัทฯ ให้รับทราบถึงนโยบายดังกล่าวข้างต้น และได้ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.cpi-th.com พร้อมได้ดำเนินการจัดอบรมให้กับพนักงานในองค์กรเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากขึ้น และดำเนินการปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งคาดว่าจะขอยื่นเพื่อขอรับประกาศนียบัตรรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตในปี 2559

ระหว่างปี 2558 บริษัทฯ และบริษัทย่อยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในการปฏิบัติงานปัจจุบันและอนาคต ทั้งโอกาสที่จะเกิด และผลกระทบเพื่อกำหนดมาตรการลด หรือแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้วยตนเอง รวมถึงความเสี่ยงด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วย  และสำนักตรวจสอบภายในมีการประเมิน และติดตามการกำกับดูแลที่ดี การปฏิบัติตามจรรยาบรรณและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกครั้งเมื่อมีการเข้าตรวจสอบประจำงวด

เพื่อให้การนำนโยบายฯ ไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในเรื่องการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในหลักสูตร/ช่องทางต่างๆ อาทิเช่น อบรมพร้อมหลักสูตรปฐมนิเทศพนักงานใหม่, อบรมพร้อมหลักสูตรกฎระเบียบของบริษัทฯ, อบรมพร้อมหลักสูตรจรรยาบรรณบริษัทฯ, อบรมหลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น, ประกาศนโยบายต่างๆ ผ่านช่องทาง Intranet (ช่องทางการสื่อสารภายในของบริษัทฯ) และ Website ของบริษัทฯ

ในปี 2559 บริษัทฯ ได้รับใบประกาศรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC – Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) ซึ่งใบรับรองดังกล่าวมีอายุ 3 ปี

ในปี 2560 - ปี 2562 สำนักตรวจสอบภายในมีการกำหนดแผนงานการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นและการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ พร้อมทั้งมีการตรวจประเมินและติดตามการกำกับดูแลที่ดี และสรุปผลการตรวจสอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

ในปี 2562 บริษัทฯ ได้รับใบประกาศรับรองการต่ออายุสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC – Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งใบรับรองการอายุสมาชิกดังกล่าวมีอายุ 3 ปี และสำนักตรวจสอบภายในมีการประเมินและติดตามการกำกับดูแลที่ดี การปฏิบัติตามจรรยาบรรณและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกครั้งเมื่อมีการเข้าตรวจสอบประจำงวด

ในปี 2563 สำนักตรวจสอบภายในมีการกำหนดแผนงานการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นและการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ พร้อมทั้งมีการตรวจประเมินและติดตามการกำกับดูแลที่ดี และสรุปผลการตรวจสอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนช่องทางการแจ้งเบาะแส / ข้อร้องเรียน ให้มีความสะดวกรวดเร็ว และมีระบบการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมแก่พนักงานทุกระดับให้รับทราบและเข้าใจถึงการใช้งานดังกล่าว รวมถึงได้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ไปยังลูกค้า บุคคลภายนอก และคู่ค้า ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.cpi-th.com อีกทางหนึ่งด้วย

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้รับใบประกาศรับรองการต่ออายุสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC – Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) ซึ่งใบรับรองดังกล่าวมีอายุ 3 ปี (เดือนกันยายน 2565 – กันยายน 2568)

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนผ่านทาง CPI Hotline หมายเลขโทรศัพท์ 02-034-0284

การดำเนินการและการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 2566

  • บริษัทฯ ได้กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้ แนะนำช่องทางแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน แก่พนักงานใหม่ทุกคนในขั้นตอนการปฐมนิเทศ
  • บริษัทฯ ได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ แนะนำช่องทางแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน ตลอดจนสื่อสารข้อมูลต่างๆ แก่พนักงานทุกระดับชั้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย อย่างต่อเนื่อง โดยผ่านหลักสูตรอบรมประจำปี และเผยแพร่ทาง Intranet ผลการดำเนินการฝึกอบรมและลงนามรับทราบแล้วคิดเป็นร้อยละ 100% ของพนักงานทั้งหมด
  • สำนักตรวจสอบภายในปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแผนงานตรวจสอบประจำปีที่กำหนดไว้ ทำการตรวจสอบข้อร้องเรียนจากระบบ CPI Hotline ซึ่งเป็นบริการช่องทางการแจ้งข้อมูล/ข้อร้องเรียนที่ดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ หากตรวจสอบพบความเสี่ยงหรือการกระทำซึ่งส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นให้นำเสนอข้อมูลต่อ คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและพัฒนาความยั่งยืน คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณา
    โดยในปี 2565 สำนักตรวจสอบภายใน ตรวจไม่พบเจอความเสี่ยงหรือการกระทำซึ่งส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่ได้รับแจ้งข้อร้องเรียนความเสี่ยงหรือการกระทำซึ่งส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น

การแจ้งเบาะแส (Whistle Blower)

ระบบการรับข้อร้องเรียน (Whistle Blower) เพื่อให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแสการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้อำนาจในทางไม่ชอบ การขัดแย้งทางผลประโยชน์ กฎหมาย หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งระบบดังกล่าวช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยสามารถแจ้งผ่านช่องการแจ้งข้อร้องเรียนได้ดังนี้

  • ร้องเรียนได้โดยตรงด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร
  • ผ่านโทรศัพท์ระบบ CPI Hotline ที่หมายเลข 02-034-0284 ซึ่งเป็นบริการช่องทางการแจ้งข้อมูล/ข้อร้องเรียนที่ดำเนินงานอย่างเป็นอิสระโดยผู้ให้บริการภายนอก ในนามของ “บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)”
  • ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ : https://www.cpi-th.com/th/corporate-governance/6
  • ผ่านทาง E-mail ของประธานกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง : noppornpicha@hotmail.com 

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรับแจ้งข้อมูล/เบาะแสเรื่องร้องเรียนอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดทันทีที่เป็นไปได้ โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ และผู้แจ้งข้อมูลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ยกเว้นจะเลือกที่จะเปิดเผยตัวตนเท่านั้น นอกจากนี้ หากผู้แจ้งข้อมูลต้องการรายงานเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ครอบคลุมบริการข้างต้น สามารถแจ้งมายังผู้จัดการสำนักตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ได้โดยตรง

ปี 2566 บริษัทฯ ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่ได้รับแจ้งผ่านช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งไม่พบว่าเป็นข้อร้องเรียนที่ที่มีนัยสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยได้รายงานผลไปยังคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและพัฒนาความยั่งยืน คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัทฯ